; คำแนะนำสำหรับการแยกกักที่บ้าน Home Isolation สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

คำแนะนำสำหรับการแยกกักที่บ้าน Home Isolation สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019



เหตุผลที่ผู้ป่วยยังต้องแยกกักที่บ้านต่ออีก 14 วัน แม้เคยตรวจทางห้องปฏิบัติการครั้งแรกแล้วไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

      เนื่องจากการเจ็บป่วยในระยะแรกอาจยังมีเชื้อไวรัสปริมาณน้อยมากซึ่งทำให้มีโอกาสตรวจไม่พบเชื้อได้ ดังนั้นผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อยู่ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยแยกตัวที่บ้านเพื่อสังเกตอาการต่อ หากมีอาการมากขึ้นใน 48 ชั่วโมง เช่น ไข้สูง เหนื่อยมากขึ้น แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก กินไม่ได้ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที โดยสามารถแจ้งที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค หมายเลขโทรศัพท์ 053-921777 

      อย่างไรก็ดี โรคนี้อาจแสดงอาการชัดเจนหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของการเจ็บป่วย หากมีอาการมากขึ้นควรเรียกให้รถของโรงพยาบาลไปรับเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หรือถ้าเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างขณะเดินทาง

 ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

  • ผู้ป่วยหยุดเรียน หยุดงาน และพักอยู่กับบ้านอย่างน้อย 14 วันนับจากวันที่เดินทางออกจากพื้นที่ระบาด หรือวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ ไม่มีไข้ ไอ น้ำมูกอย่างน้อย 1 วันเพื่อลดการแพร่เชื้อ

  • เมื่อมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูกตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

  • เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ โดยการเช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว เน้นการเช็ดลดไข้บริเวณหน้าผาก ซอกรักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนขา และใช้ผ้าปิดหน้าอกระหว่างเช็ดแขนขาเพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่นต้องหยุดเช็ดตัวและห่มผ้าให้อบอุ่นทันที

  • ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด

  • พยายามรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้เพียงพอ

  • นอนพักผ่อนมากๆในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก

 

หากมีข้อสงสัยใดๆสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่

ในเวลา 08.00-16.00 น. หมายเลขโทรศัพท์ 053-921777 ต่อ 1231

นอกเวลาหมายเลขโทรศัพท์ 053-921777 ต่อ 1426, 1427

 

  แนวทางการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นในบ้าน

  • ผู้ป่วยควรนอนแยกห้อง ไม่ออกไปนอกบ้าน ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะจนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ

  • รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ

  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ

  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ

  • เมื่ออยู่กับผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากบุคคลอื่นในบ้านประมาณ 1-2 เมตรหรืออย่างน้อยประมาณ 1 ช่วงแขน

  • หากมีอาการไอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

  • หากไอขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้แขนเสื้อปิดปากปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม หรือใช้กระดาษทิชชูโดยปิดถึงคาง

  • หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชูที่ใช้แล้วให้ทิ้งในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที

  • ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย เมื่อเสร็จภารกิจต้องถอดหน้ากากอนามัยลงในถังขยะและทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที

  • ทุกคนในบ้านควรล้างมือบ่อยครั้งที่สุด เพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ

  • ทำความสะอาดพื้นบริเวณที่ผู้ป่วยพัก และเครื่องเรือนเครื่องใช้ เช่น เตียง โต๊ะ โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ต่างๆด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วน)

  • ทำความสะอาดห้องน้ำบริเวณโถส้วมหรือพื้นที่ที่อาจเปื้อนอุจจาระหรือสารคัดหลั่งด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 5000 ppm โดยผสมน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำ9 ส่วน)

  • ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนูฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60-90 องศาเซลเซียส

  • เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้านภายในระยะเวลา 14 วันหลังสัมผัสผู้ป่วย

 หมายเหตุ 

ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้เนื่องจากปริมาณไวรัสที่ผ่านทางน้ำนมมีน้อยมาก แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร

 เอกสารอ้างอิง

แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข